วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2557

เทคนิคการเลือกใช้สีวงล้อสีในการทำงานศิลปะ สาขาทัศนศิลป
สีที่เป็นวัตถุ (pigment) แบ่งออกเป็น 
1. แม่สี หรือสีขั้นต้น (primary colours) มี 3 สี คือ สีเหลือง สีแดง และสีน้ำเงิน แม่สีทั้ง 3 สี เป็นสีที่ไม่สามารถผสมขึ้นมาได้ แต่สามารถผสมเข้าด้วยกันเป็นสีอื่น ๆ ได้ 
2. สีขั้นที่สอง (secondary colours) มี 3 สี เกิดจากการนำแม่สีทั้ง 3 มาผสมกันเข้าทีละคู่ก็จะได้สีออกมาดังนี้ 
สีเหลือง + สีแดง > สีส้ม 
สีเหลือง + สีน้ำเงิน > สีเขียว 
สีแดง + สีน้ำเงิน > สีม่วง 
3. สีขั้นที่สาม (tertiary colours) เป็นสีที่ได้จากการนำสีขั้นที่ 2 ผสมกับแม่สีทีละคู่ ก็จะได้สีเพิ่มขึ้นอีก 6 สี คือ ส้มเหลือง ส้มแดง เขียวเหลือง เขียวน้ำเงิน ม่วงแดง ม่วงน้ำเงิน 
4. สีกลาง (neutral colour) เป็นสีที่เกิดจากการนำเอาสีทุกสีผสมรวมกันเข้า หรือเอาแม่สีทั้ง 3 สี รวมกัน ก็จะได้สีกลาง ซึ่งเป็นสีเทาแก่ ๆ เกือบดำ 
{ ข้างบนเป็นสีจากธรรมชาติครับ แต่เราใช้ถ่ายภาพจะเป็น สีที่เป็นแสง (spectrum) เป็นสีที่เกิดจากการหักเหของแสง แม่สีจะเป็น RGBแต่หลักการคล้ายกันครับ }
วงล้อสี (colour wheel) 
จากสี 12 สี ในวงล้อจะแบ่งออกเป็น 2 วรรณะ คือ 
- วรรณะสีอุ่น (warm tone) ได้แก่ สีเหลือง (ครึ่งหนึ่ง) ส้มเหลือง ส้ม ส้มแดง แดง ม่วงแดง และม่วง (ครึ่งหนึ่ง) 
- วรรณะสีเย็น (cool tone) ได้แก่สีเหลือง (อีกครึ่งหนึ่ง) เขียวเหลือง เขียว เขียวน้ำเงินน้ำเงิน ม่วงน้ำเงินและม่วง (อีกครึ่งหนึ่ง) 
สำหรับสีเหลืองและสีม่วงนั้น เป็นสีที่อยู่ในวรรณะกลาง ๆ หากอยู่ในกลุ่มสีอุ่นก็จะอุ่นด้วย แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มสีเย็นก็จะเย็นด้วย 
คู่สี (complementary colours) 
สีที่อยู่ตรงข้ามกันในวงล้อสีจะเป็นคู่สีกัน ถ้านำมาวางเรียงกันจะให้ความสดใส ให้พลังความจัดของสีซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการตัดกันหรือขัดแย้งกันอย่างมาก คู่สีนี้จะเป็นสีที่ตัดกันอย่างแท้จริง (true contrast) การใช้สีที่ตัดกันจะต้องพิจารณาดังนี้ 
ปริมาณของสีที่เกิดจากการตัดกันจะต้องไม่เกิน 10% ของพื้นที่ทั้งหมดในภาพ 
การใช้สีตัดกันต้องมีสีใดสีหนึ่ง 80% และอีกสีหนึ่ง 20% โดยประมาณ 
ถ้าหากต้องใช้สีคู่ตัดกัน โดยมีเนื้อที่เท่า ๆ กัน จะต้องลดความเข้มของสี (intensityของสีใดสีหนึ่ง หรือทั้งสองสีลง
สีข้างเคียง (analogous colours) 
เป็นสีที่อยู่เคียงกันในวงล้อสี เช่น สีเหลืองกับส้มเหลือง สีทั้ง 2 จะดูกลมกลืนกัน (harmony) สีที่อยู่ห่างกันออกไป ความกลกลืนก็จะค่อย ๆ ลดลง ความขัดแย้ง หรือความตัดกันก็จะเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นคู่สี หรือสีตัดกันอย่างแท้จริงเมื่อห่างกันจนถึงจุดตรงข้ามกัน 
การใช้สี 
การใช้สีมีอยู่ 2 วิธี คือ การใช้สีให้กลมกลืน (harmony) หรือตัดกัน(contrast) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการใช้งาน แต่ละลักษณะ การใช้สีให้ดูกลมกลืนมากเกินไปก็จะจืดชืด น่าเบื่อ แต่ถ้าใช้สีตัดกันมากเกินไปก็จะเกิดการขัดแย้งสับสนได้ 
จิตวิทยาของสี (colour phychology)
คือการที่สีมีอิทธิพลต่อจิตใจของมนุษย์ 
- สีแดง สีแห่งการโฆษณาชวนเชื่อ ตื่นเต้น เร้าใจ 
- สีแดงอ่อน ความประณีต ความเยือกเย็น ความหวาน ความสุข 
- สีแดงเข้ม มีอุดมคติสูง ยิ่งใหญ่ สมบูรณ์ 
- สีชมพู สีแห่งความเป็นหนุ่มสาว สีแห่งความรัก ความมั่นใจ 
- สีน้ำเงิน สีแห่งความเชื่อมั่น หนักแน่น สุภาพ ถ่อมตน 
- สีฟ้าอ่อน สีที่าบรื่น ร่มเย็น 
- สีเหลือง สว่างสดใส ร่าเริง รู้สึกมีรสเปรี้ยว 
- สีแสด ตื่นตัวเร้าใจ สนุกสนาน 
- สีม่วง สีแห่งความผิดหวัง ไม่เชื่อมั่น ไม่แน่นอน เศร้า 
- สีเขียวอ่อน สดชื่น ร่าเริง เบิกบาน 
- สีเขียวแก่ เศร้า ชรา เบื่อหน่าย 
- สีดำ ทุกข์ เสียใจ 
- สีน้ำตาล อับทึบ 
- สีเทา เงียบสงัด ขรึม สุภาพ 
ที่มา อาจารย์โสภัทร นาสวัสดิ์ ความหมายของศิลปะ (Art)